วัดบรมพุทธาราม

วัดบรมพุทธารามนั้น มีศิลปกรรมที่โดดเด่น และมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์บ้านพลูหลวง

     วัดบรมพุทธาราม

      วัดบรมพุทธารามนั้น มีศิลปกรรมที่โดดเด่น และมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์บ้านพลูหลวง ประวัติความเป็นมา ในรัชสมัยของสมเด็จพระเพทราชาแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง โปรดฯ ให้สร้างวัดบรมพุทธารามขึ้น ณ บริเวณพระนิเวศน์เดิมของพระองค์ในบริเวณที่เรียกว่าบ้านหลวง ตำบลป่าตอง ซึ่งอยู่ในเขตกำแพงพระนคร ริมคลองฉะไกรน้อยใกล้กับประตูไชย ใช้ระยะเวลาในการสร้างถึง 3 ปีเศษ นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หมื่นจันทราช ทำกระเบื้องเคลือบสีเหลืองมุงหลังคาพระอุโบสถ และพระวิหาร ชาวกรุงศรีอยุธยาจึงนิยมเรียกกันเป็นสามัญว่าวัดกระเบื้องเคลือบ ด้วยเหตุเพราะหลังคาพระอุโบสถมุงกระเบื้องเคลือบสีเหลืองแกมเขียว จึงทำให้วัดบรมพุทธารามมีความสวยงามโดดเด่นกว่าพระอารามอื่นๆ ในบริเวณเดียวกัน ที่ยังนิยมใช้กระเบื้องดินเผามุงหลังคาอยู่ มีเอกสารกล่าวว่าครั้งหนึ่งวัดนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ มาก่อน นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุอันล้ำค่าที่เคยอยู่ที่วัดบรมพุทธารามแห่งนี้คือบานประตูไม้ ประดับมุกไฟ ซึ่งเป็นงานช่างหลวงในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีสร้างชุดบานประตูนี้ขึ้นใน พ.ศ.2295 ดังปรากฏคำจารึกบนบานประตู ปัจจุบันถูกนำไปจัดแสดง ณ มุขหหน้าพระที่นั่งพรหมเมศธาดา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

ศิลปกรรมวัดบรมพุทธาราม

       ศิลปกรรมวัดบรมพุทธาราม ยังเป็นศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธเถรวาท จากเนื้อความในพระราชพงศาวดารที่กล่าวถึงการสร้างวัดในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. 2231 - 2265) และมีการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. 2275 - 2301) จึงสามารถกำหนด อายุสมัยพุทธศตวรรษที่ 23 ศิลปะอยุธยาตอนปลาย ในส่วนของสะพานป่าดินสอนั้น ไม่ปรากฏเอกสารหรือหลักฐานการสร้างว่ามีการก่อสร้างสะพานครั้งแรกขึ้นเมื่อใด แต่จากโครงสร้างสะพานที่มีการก่ออิฐสันเหลื่อมเป็นซุ้มโค้งกลีบบัว พบว่าเป็นรูปแบบได้รับความนิยมเป็นอย่างมากตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สันนิษฐานว่าสะพานป่าดินสอคงถูกสร้างขึ้น หรือมีการบูรณะเปลี่ยนโครงสร้างด้วยอิฐอย่างน้อยก็ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 23

ก่อนเข้าพระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม

        พระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม มีขนาดใหญ่เป็นไปตามความนิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่เน้นพระอุโบสถเป็นประธานของวัด ปรากฏร่อยรอยใบเสมาหินชนวนล้อมรอบ มีการวางแผนผัง หันทิศทางไว้ในแนวเหนือ - ใต้ ขนานแนวกับคลองประตูฉะไกรน้อย และถนนมหารัถยา ด้านหน้าของพระอุโบสถมีพระสถูปทรงปรางค์ 2 องค์ ลักษณะเพรียวสูง ตั้งเรียงตามแนวแกนขึ้นมาทาง ทิศเหนือ แต่ไม่อาจตั้งพระสถูปคู่ในแนวขวางเช่นวัดอื่นๆ ตามระบบแผนผังทางสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาตอนปลายได้ เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ ผนังสกัดด้านหน้าพระอุโบสถ มีบันได ทางขึ้นซ้ายขวา มีประตูทางเข้า 3 ช่องทาง ประตูช่องกลางมีขนาดใหญ่เนื่องด้วยทางเสด็จ ของพระมหากษัตริย์ ในอดีตเคยประดับด้วยบานประตูไม้ประดับมุกไฟ ซุ้มด้านบนประตูทำเป็น ยอดปราสาท โดยหากมองในระดับเดียวกันกับซุ้มประตูจะเห็นเหมือนพระประธานประทับนั่งบน ฐานชุกชีภายในบุษบกยอดปราสาท ซึ่งเป็นภูมิปัญญาทางด้านสถาปัตยกรรมของงานช่างโบราณในการบังคับมุมมอง บริเวณกรอบหน้าบันบนประตูช่องซ้ายและขวามีร่องรอยงานประดับปูนปน อันงดงามเหลืออยู่ ส่วนพระวิหารมีขนาดย่อมกว่าพระอุโบสถ อยู่ติดกับแนวถนนมหารัถยา หรือ ถนนพระศรีสรรเพชญ์ในปัจจุบัน

ภายในพระอุโบสถวัดพุทธาราม

       ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีการบูรณะซ่อมแซมและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อ พ.ศ. 2526 แท่นชุกชีก่อฐานสูงเพื่อให้เกิดความโดดเด่นของพระประธานในฐานะศูนย์กลาง จักรวาล ด้านหลังพระประธานไม่ก่อติดผนังเพื่อสามารถเดินประทักษิณได้โดยรอบ ผนังพระอุโบสถมีขนาดสูงใหญ่ก่ออิฐอย่างแข็งแรงเพื่อรองรับน้ำหนักเครื่องบนหลังคา บริเวณผนังปูนกรอบประตูด้านหลังพระประธานทั้งซ้ายและขวา และผนังปูนกรอบหน้าต่างด้านขวาของพระประธาน ยังมีร่องรอยของภาพจิตรกรรมฝาผนังเหลือให้ชมอยู่บางส่วน

ที่มา : 

สถาบันอยุธยาศึกษา. (2561). รอบรู้ รอบรั้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา. พระนครศรีอยุธยา: มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา 

สถาบันอยุธยาศึกษา. (2563). คู่มือท่องเที่ยว แหล่งวัฒนธรรมสถานในรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา. สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา