วัดสวนหลวงค้างคาว

วัดสวนหลวงค้างคาว เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่กว่าโบราณสถานอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน แม้ว่าในปัจจุบันจะเหลือร่องรอยอยู่ไม่มากนัก แต่ก็มีความสนใจเกี่ยวกับโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมในพระราชนิยมสมัยสมเด็จพระเพทราชา

วัดสวนหลวงค้างคาว

       วัดสวนหลวงค้างคาว เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่กว่าโบราณสถานอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน แม้ว่าในปัจจุบันจะเหลือร่องรอยอยู่ไม่มากนัก แต่ก็มีความสนใจเกี่ยวกับโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมในพระราชนิยมสมัยสมเด็จพระเพทราชา รวมทั้งบริเวณพื้นที่ตั้งที่มีสำคัญทั้งในด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมพหุวัฒนธรรม ประวัติความเป็นมา วัดสวนหลวงค้างคาวแห่งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่ในเอกสารหลายฉบับกล่าวว่าเดิมพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของสวนหลวงในบริเวณ  นิวาสสถาน เดิมของสมเด็จพระเพทราชา ซึ่งติดกับย่านป่าตองรวมทั้งยังมีข้อความปรากฏใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่กล่าวถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ว่าใน รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยา เกิดความวุ้นวายในกัมพูชา เมื่อนักเสด็จพระธรรมราชา  วังกระดาน วิวาทกับนักแก้วฟ้าจอกจนเกิดเหตุรบพุ่งกัน นักแก้วฟ้าจอกไปขอทัพญวนมาช่วยในการรบครั้งนั้น จนนักเสด็จพระธรรมราชาไม่อาจสู้ได้ จึงต้องอพยพไพร่พลบางส่วนหนีเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาเพื่อเข้ามาของพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค และให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในแถบใกล้วัดค้างคาว ซึ่งเมื่อมีการพิจารณาวิเคราะห์เรื่องชื่อวัดโบราณในเขตเกาะเมือง ก็ไม่ปรากฏชื่อวัดค้างคาวในที่อื่นอีก นอกจากชื่อวัดสวนหลวงค้างคาวแห่งนี้ จึงสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นสถานที่แห่งเดียวกัน ซึ่งทำให้เห็นภูมิวัฒนธรรมในย่านดังกล่าวว่านอกจากจะมีชาวมุสลิม และชาวจีนแล้วยังมีกลุ่มชาวเขมร เข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาในบริเวณนี้ด้วย นอกจากนี้ยังมีเอกสารคำให้การ ขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ที่กล่าวถึงตำแหน่งยศพระราชาคณะฐานานุกรม ปรากฏชื่อ “...พระโพธิวงศ์อยู่วัดสวนหลวงค้างคาว 1...” จึงเป็นข้อยืนยันถึงการมีอยู่ของวัดนี้ในสมัย กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

ศาสนา ความเชื่อ อายุสมัยทางศิลปกรรม

        วัดสวนหลวงค้างคาว เป็นวัดที่สร้างขึ้นเนื่องในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท จากการ วิเคราะห์สภาพโบราณสถานที่ยังคงเหลืออยู่ได้แก่พระอุโบสถและพระสถูป สันนิษฐานว่าจะสร้างขึ้นในช่วงเวลาหลังจากการสร้างวัดบรมพุทธารามไม่นานนัก ราวรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2231 - 2246) และคงได้รับการทำนุบำรุงเรื่อยมาจนกระทั่งถูก ทิ้งร้างไปหลังจากสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ยังมีเรื่องเล่าที่ผูกโยงกับข้อสันนิษฐานที่ว่าพื้นที่สวนหลวงแห่งนี้คงมีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะเนื่องจากอยู่ใกล้บริเวณป่าตอง ที่มีการปลูกกล้วยเป็นเกษตรกรรมหลัก และเป็นอาหารหลักของสัตว์มีปีกประเภทค้างคาว จึงอาจมีส่วนที่ทำให้วัดนี้ได้ชื่อว่าวัดค้างคาว หรือวัดสวนหลวงค้างคาว ตามภาษาปากของชาวกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้พฤติกรรมของค้างคาว ที่ชอบกินกล้วย ก็น่าจะเป็นที่มาของเพลง “ค้างคาวกินกล้วย” ซึ่งเป็นเพลงไทยเดิมตั้งแต่ครั้ง กรุงศรีอยุธยาอีกด้วยเช่นกัน

ด้านข้างพระอุโบสถ

        วัดสวนหลวงค้างคาว มีการวางทิศทางและตำแหน่งในแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก เช่นเดียวกับวัดสิงหาราม แต่ต่างกันตรงที่มีการกำหนดให้หันทิศทางของฐานชุกชีพระประธานไป ยังทิศตะวันออก ดังนั้นส่วนท้ายวัดจึงเป็นย่านป่าตองและแนวคลองฉะไกรน้อย พระอุโบสถ วัดสวนหลวงค้างคาวมีขนาดสูงใหญ่มาก เป็นการเน้นรูปแบบพระราชนิยมในรัชกาลสมเด็จ พระเพทราชา ที่ยกระดับให้ความสำคัญกับพระอุโบสถเป็นประธานหลักของวัดมากกว่าพระสถูป ประธานตามรูปแบบสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาตอนต้น-ตอนกลาง นอกจากนี้ยังมีพระสถูปทรง แปดเหลี่ยม และพระสถูปทรงปรางค์ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุโบสถเป็นแบบ ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมฐานสูงคล้ายกับปรางค์วัดบรมพุทธาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ ปรางค์วัดโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร

ด้านบนพระอุโบสถ

        เมื่อคราวที่กรมศิลปากรทำการบูรณะโบราณสถานวัดสวนหลวงค้างคาว ไม่ได้สร้างทางขึ้น ไปชมด้านบนองค์พระอุโบสถ เนื่องจากด้านบนไม่มีร่องรอยทางสถาปัตยกรรมใดๆ นอกจากที่โล่งแจ้ง ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นในการศึกษาโครงสร้างสถาปัตยกรรมเชิงลึก ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นไปบนพระอุโบสถ ในขณะที่ทำการบูรณะได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญหลายชิ้นเป็นศิลปะแบบอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่  22 - 23 อาทิ พระพุทธรูปทำด้วยแก้ว พระพุทธรูปทำด้วยสำริดซึ่งมีทั้ง พระพุทธรูปปางมารวิชัยและพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดต่าง ๆ กันหลายองค์ นอกจากนี้ยังพบ ตุ๊กตาขนาดเล็ก ทำด้วยดินเผา สูงประมาณ 3 เซนติเมตร เป็นรูปผู้สตรีนั่งพับเพียบเกล้ามวย มีกระบังหน้า ซึ่งทำให้เห็นวัฒนธรรมการแต่งกายในสมัยอยุธยาตอนปลายได้เป็นอย่างดี

ที่มา : 

สถาบันอยุธยาศึกษา. (2561). รอบรู้ รอบรั้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา. พระนครศรีอยุธยา: มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา 

สถาบันอยุธยาศึกษา. (2563). คู่มือท่องเที่ยว แหล่งวัฒนธรรมสถานในรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา. สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา