วัดสิงหาราม

ดสิงหารามตั้งอยู่ริมคลองฉะไกรน้อย ฝั่งตรงข้ามกับวัดบรมพุทธาราม เป็นโบราณสถานที่มีความเก่าแก่กว่าวัดอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกัน แต่ถึงแม้ว่าจะมีสภาพความ สมบูรณ์น้อยกว่าวัดบรมพุทธาราม แต่ก็มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะรูปแบบแผนผัง

วัดสิงหาราม

       วัดสิงหารามตั้งอยู่ริมคลองฉะไกรน้อย ฝั่งตรงข้ามกับวัดบรมพุทธาราม เป็นโบราณสถานที่มีความเก่าแก่กว่าวัดอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกัน แต่ถึงแม้ว่าจะมีสภาพความ สมบูรณ์น้อยกว่าวัดบรมพุทธาราม แต่ก็มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะรูปแบบแผนผัง และโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่มีมาก่อนการสร้างวัดบรมพุทธาราม และวัดสวนหลวงค้างคาว ประวัติความเป็นมา วัดนี้ไม่ปรากฏเอกสารหรือหลักฐานใด ๆ เกี่ยวกับการสร้างวัดและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง นอกจากชื่อและตำแหน่งตามที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ของพระยาโบราณราชธานินทร์ ฉบับ พ.ศ.2496 ศาสนา ความเชื่อ อายุสมัยทางศิลปกรรม วัดสิงหาราม เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเนื่องในพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท หากพิจารณา ถึงขนาดพื้นที่ของโบราณสถานที่มีขนาดกว้างขวาง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดสำคัญที่มีการสร้างขึ้นในฐานะศูนย์กลางของชุมชนย่านตำบลป่าตอง และมีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ที่มีความคล้ายกับวัดพระศรีสรรเพชญ์นอกจากนี้ยังมีความคล้ายคลึงกับวัดโคกสิงคาราม ที่เมืองศรีสัชนาลัย ทั้งในส่วนของชื่อวัด และการวางผังรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ยังคงนิยมการสร้างเจดีย์ทรงระฆังแบบลังกา ภายในพระอุโบสถยังคงปรากฏการเจาะช่องหน้าต่างขนาดเล็ก เพื่อควบคุมระบบแสงสว่าง และใช้เสาภายในอาคารเพื่อรองรับเครื่องบนหลังคา กรมศิลปากรจึงสันนิษฐานว่าวัดสิงหารามแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น หรืออย่างน้อยสมัยอยุธยาตอนกลาง และได้รับการทำนุบำรุงจากพระมหากษัตริย์เรื่อยมาจนถึงอย่างน้อยในสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (โดยพิจารณาจากรูปแบบทางศิลปกรรม ที่ได้จากการบูรณะของกรมศิลปากร) ต่อมาวัดสิงหารามแห่งนี้คงถูกทำลายจนเสียหาย และถูกทิ้งร้างไปหลังจากเกิดสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

บริเวณริมคลองฉะไกรน้อย 

        บริเวณริมคลองฉะไกรน้อยปัจจุบันมีสภาพร่มไม้ที่ร่มรื่น ในอดีตคือส่วนที่เป็นท่าน้ำหน้าวัดสิงหาราม วัดนี้มีการวางผังในแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก ท้ายพระอุโบสถของวัด และกลุ่มพระเจดีย์ค่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อย ทำให้เห็นถึงการก่อสร้างที่ไม่เน้นทิศทางหลักตามวิถีการโคจรของพระอาทิตย์ แต่เน้นทิศทางมุ่งเข้าหาเส้นทางคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก นั่นคือคลองฉะไกรน้อย ภายในพระอุโบสถ มีการใช้เสาร่วมในประธานแปดเหลี่ยมสองแถวเป็นตัวรองรับเครื่องบน หลังคา ผนังเจาะช่องหน้าต่างแบบซี่ลูกกรงเพื่อควบคุมระบบอากาศให้กักเก็บความเย็น และควบคุมแสงสว่างภายในอาคาร ซึ่งมีรูปคล้ายคลึงกับผนังวิหารวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ ในสมัยอยุธยาตอนต้น และผนังวิหารวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในสมัยอยุธยาตอนกลาง ฐานชุกชีที่ ประดิษฐานพระประธานก่อติดผนัง หันหน้าไปยังคลองฉะไกรน้อย บริเวณซุ้มประตูทางด้านหน้า ของอุโบสถ มีร่องรอยของลายปูนปั้นประดับด้วยเศษเครื่องถ้วยลายคราม ซึ่งจากการตรวจสอบ อายุสมัยเป็นเครื่องถ้วยลายครามของจีนสมัยราชวงศ์ชิง (ร่วมสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ ราว พ.ศ 2179 - 2455)

ข้างพระเจดีย์คู่ ด้านหลังอุโบสถ เจดีย์ประธาน เป็นทรงระฆังแบบลังกา 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน การสร้างเจดีย์ประธานหลังพระอุโบสถ หรือวิหาร ในจำนวนคู 2 องค์เช่นนี้ไม่ค่อยพบมากนักในช่วงก่อนรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สันนิษฐานว่าเดิมเคยมี 3 องค์ แต่องค์อยู่ทางตะวันออกสุด น่าจะพังทลายจนเสียสภาพไปนานแล้ว ซึ่งหากเป็น         ผังเจดีย์ที่เรียงกัน 3 องค์ จะมีแผนผัง และรูปแบบที่สอดคล้องกับเจดีย์ประธานวัดพระศรีสรรเพชญ์ และที่วัดโคกสิงคาราม อำเภอ ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นศิลปะอยุธยาตอนกลางที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 21 เมื่อ พ.ศ.2555 ระหว่างที่กรมศิลปากร ได้ทำการบูรณะวัดสิงหาราม มีการค้นพบภาพจิตรกรรม ประดับผนังคูหาปรากฎอยู่ภายใน     กรุของเจดีย์ประธานด้านทิศตะวันออกสุด เป็นภาพเขียนสีแบบ 34 เทคนิคปูนเปียก (Buon Fresco) รูปพุทธสาวกจำนวน 3 รูป อยู่ในท่าเดินพนมมือ ลักษณะ เดินเวียนประทักษิณ ภาพเขียนสีภายในกรุวัดเจดีย์ประธานวัดสิงหารามนี้ น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น - ตอนกลาง ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19-22 หรือประมาณ 500 ปีมาแล้ว ปัจจุบันทางกรมศิลปากรได้ทำการปิดผนึกบริเวณจุดที่ค้นพบเพื่อรักษาภาพจิตรกรรมไว้ให้คงอยู่ เช่นเดิม นอกจากนี้ทางด้านทิศใต้ของวัด ยังมีวิหารแกลบซึ่งเป็นวิหารหลังเล็กๆ ไม่มีช่องหน้าต่าง แต่มีการเจาะช่องแสงตรงผนังสกัดด้านหลังพระประธาน เพื่อเป็นการควบคุมแสงสว่างภายในวิหาร

ที่มา : 

สถาบันอยุธยาศึกษา. (2561). รอบรู้ รอบรั้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา. พระนครศรีอยุธยา: มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา 

สถาบันอยุธยาศึกษา. (2563). คู่มือท่องเที่ยว แหล่งวัฒนธรรมสถานในรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา. สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา